France; French Republic

สาธารณรัฐฝรั่งเศส




     ฝรั่งเศสเป็นประเทศผู้นำและเป็นศูนย์กลางของความเจริญด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านศิลปวิทยาการ การศึกษาและวัฒนธรรม ในยุคภูมิธรรม (The Age ofEnlightenment) ฝรั่งเศสเป็นที่รวมตัวของนักปรัชญาเมธี (philosophes) และการศึกษาปรัชญาการเมืองจนก่อให้เกิดการตื่นตัวในเรื่องการเมือง สิทธิและเสรีภาพ ซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) ใน ค.ศ. ๑๗๘๙ และการเข้ามามีอำนาจของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕) ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ หลังจากการพ่ายแพ้ในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-PrussianWar ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๘๗๑) ฝรั่งเศสเปลี่ยนการปกครองจากจักรวรรดิเป็นระบอบสาธารณรัฐและถูกกีดกันให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวทางการเมืองระหว่างประเทศเป็นเวลากว่า๒ ทศวรรษ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ ฝรั่งเศสเป็นสมรภูมิที่นองเลือดหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ฝรั่งเศสได้สูญเสียอาณานิคมและความเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งอีกทั้งต้องเผชิญวิกฤตการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รัฐบาลได้ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๕ ใน ค.ศ. ๑๙๕๘ ที่ให้อำนาจและหน้าที่แก่ประธานาธิบดีและรัฐบาลมากขึ้นซึ่งยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน
     ฝรั่งเศสเป็นดินแดนที่ปรากฏร่องรอยทางโบราณคดีว่ามีมนุษย์อาศัยกว่า๑๐๐,๐๐๐ ปี แล้ว ได้มีการค้นพบภาพเขียนผนังถ้ำจำนวนมากที่เขียนขึ้นในยุคหิน (StoneAge) ในเขตตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ส่วนการสร้างวัฒนธรรมที่สลับซับซ้อนเริ่มขึ้นในยุคสัมฤทธิ์ (Bronze Age) ซึ่งอยู่ระหว่าง ๒,๐๐๐-๘๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราชในปลายยุคสัมฤทธิ์ พวกฮัลล์ชตัทท์ (Hallstatt) ซึ่งเป็นนักรบและคนเลี้ยงแกะได้อพยพจากเทือกเขาแอลไพน์ (Alpine) เข้าไปอาศัยในพื้นที่ส่วนใหญ่ของฝรั่งเศสหลังจากนั้น พวกกอล (Gaul) ซึ่งเป็นชนเผ่าเคลต์ (Celt) ก็เข้ารุกรานและกลายเป็นกลุ่มที่มีอำนาจและอิทธิพลเหนือชนเผ่าอื่น ๆ พวกกอลได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ทั่วไปตั้งแต่ดินแดนที่เป็นฝรั่งเศส เบลเยียม เยอรมนี จนถึงอิตาลี ตอนเหนือในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ดินแดนดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกในสมัยโบราณว่า “กอล”ด้วย
     ใน ๗๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช ชาวกรีกได้เข้ามาตั้งอาณานิคมที่มัสซิเลีย[(Massilia) ปัจจุบันคือเมืองมาร์เซย์ (Marseille) ซึ่งเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางอุตสาหกรรม] ทางภาคใต้ของฝรั่งเศสเพื่อใช้เป็นสถานีการค้ากับดินแดนที่อยู่ห่างไกลจากทะเลและนำวัฒนธรรมเมดิเตอร์เรเนียนมาเผยแพร่ ต่อมา ใน ๑๒๑ ปีก่อนคริสต์ศักราช กองทัพโรมันได้เข้ายึดครองเมืองมัสซิเลีย และจัดตั้งชุมชนใหม่ึลกเข้าไปในแผ่นดินที่นาร์บอน (Narbonne) ซึ่งในภายหลังได้เป็นเมืองศูนย์กลางของมณฑลกัลเลียนอร์บอเนนซิส (Gallia Norbonensis) ระหว่าง ๕๘-๕๑ ปีก่อนคริสต์ศักราช จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) แม่ทัพโรมันได้ยาตราทัพเข้ายึดครองดินแดนกอลทั้งหมด และจัดตั้งเมืองลุกดูนัม [(Lugdunum) ปัจจุบันคือเมืองลียง(Lyon) ซึ่งเป็นศูนย์อุตสาหกรรมสิ่งทอ] เป็นศูนย์กลางการบริหารของกอล
     ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๕ เมื่อจักรวรรดิโรมันเริ่มอ่อนแอลง กอลได้ถูกอนารยชนเผ่าเยอรมันกลุ่มต่าง ๆ เข้ารุกราน ต่อมาเมื่อจักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสลายลงใน ค.ศ. ๔๗๖พระเจ้าคลอวิสที่ ๑ (Clovis I) ผู้นำของพวกแฟรงก์ (Frank)ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของชนเผ่าเยอรมันได้อำนาจปกครองกอล พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงแห่งเบอร์กันดี (Burgundy) หันมานับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกใน ค.ศ ๔๙๖ และบังคับให้พวกแฟรงก์นับถือคริสต์ศาสนาด้วย การนับถือคริสต์ศาสนาดังกล่าวทำให้พระเจ้าคลอวิสที่ ๑ และราชวงค์เมโรวินเจียน(Merovingian) เป็นที่ยอมรับของคริสตจักรและได้รับยกย่องว่าทรงเป็น “ดาบของพระเป็นเจ้า”
     อย่างไรก็ดี หลังจากพระเจ้าคลอวิสที่ ๑ สวรรคต อาณาจักรแฟรงก์ก็ประสบกับความอ่อนแออันเนื่องมาจากประเพณีการแบ่งแยกดินแดนให้แก่บรรดาพระราชโอรสปกครองและการแย่งชิงอำนาจกัน ในที่สุดอำนาจการปกครองที่แท้จริงตกเป็นของเปแปงแห่งแอร์สตัล (P”pin of Herstal) สมุหราชมนเทียร(Mayor of the Palace) แห่งตระกูลอาร์นุลฟุง (Arnulfung) ซึ่งสามารถแผ่อำนาจเข้าควบคุมการบริหารในส่วนต่าง ๆ ของอาณาจักรแฟรงก์ และทำให้กษัตริย์แห่งราชวงศ์เมโรวินเจียนมีฐานะเป็นเพียงประมุขหุ่นเท่านั้น ต่อมา บุตรหลานของเปแปงแห่งแอร์สตัลได้มีบทบาทสำคัญในการสร้างเกียรติประวัติและความแข็งแกร่งให้แก่ตระกูล โดยใน ค.ศ. ๗๓๒ ชาร์ล มาร์แตล (Charles Martel)บุตรชายมีชัยชนะที่เมืองตูร์ (Tours) ต่อกองทัพของพวกอาหรับ (มุสลิม) ซึ่งเดินทางมาจากคาบสมุทรไอบีเรีย (Iberia) เพื่อจะยึดครองดินแดนยุโรปตะวันตก ทำให้พวกมุสลิมหมดโอกาสที่จะเข้าครอบครองดินแดนยุโรป ใน ค.ศ. ๗๕๑ เปแปงร่างเตี้ย(P”pin the Short) หลานชายได้ปลดกษัตริย์แห่งราชวงศ์เมโรวินเจียนออกจากบัลลังก์และสันตะปาปาสตีเฟนที่ ๓ (Stephen III) ได้เสด็จมาประกอบพิธีทางศาสนาและประทานเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ ในการสถาปนาเปแปงร่างเตี้ยเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์คาโรลินเจียน (Carolingian) นับแต่นั้นเป็นต้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างสันตะปาปากับกษัตริย์แห่งอาณาจักรแฟรงก์ก็แนบแน่นขึ้นเป็นลำดับ ในวันคริสต์มาสค.ศ. ๘๐๐ สันตะปาปาลีโอที่ ๓ (Leo III) ทรงตอบแทนราชวงศ์คาโรลินเจียนที่ช่วยพิทักษ์และคุ้มครองสำนักสันตะปาปาและสถาบันคริสต์ศาสนามาโดยตลอดด้วยการประกอบพิธีสถาปนาให้พระเจ้าชาร์เลอมาญ (Charlemagne ค.ศ. ๗๖๘-๘๑๔)พระราชโอรสของพระเจ้าเปแปงที่ ๓ (เปแปงร่างเตี้ย) เป็นจักรพรรดิของชาวโรมัน(Emperor of the Romans) นับเป็นครั้งแรกที่ยุโรปตะวันตกมีจักรพรรดิหลังจากที่ตำแหน่งนี้ได้ว่างเว้นมานับแต่การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกเป็นเวลา๓๒๔ ปี
     ในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์เลอมาญ วัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ของยุโรปได้ฟื้นตัวมากที่สุดนับแต่การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก นอกจากนี้อาณาจักรแฟรงก์ยังมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลที่สุดด้วย กล่าวคือมีพื้นที่ครอบคลุมยุโรปตะวันตกทั้งหมดตั้งแต่แม่น้ำเอโบร (Ebro) ในสเปน จนถึงแม่น้ำเอลเบ (Elbe) ในดินแดนเยอรมัน แต่หลังจากพระเจ้าชาร์เลอมาญสวรรคตใน ค.ศ. ๘๑๔อาณาจักรแฟรงก์ก็เริ่มอ่อนแอลง ต่อมา สนธิสัญญาแวร์เดิง (Treaty of Verdun) ใน ค.ศ. ๘๔๓ได้แบ่งอาณาจักรแฟรงก์ให้แก่พระราชนัดดาของพระเจ้าชาร์เลอมาญ ๓ พระองค์โดยแต่ละองค์ทรงมีอำนาจสิทธิขาดในดินแดนของตน ชาร์ลพระเศียรล้าน (Charlesthe Bald)พระราชนัดดาพระองค์เล็กได้ครอบครอง “อาณาจักรแฟรงก์ตะวันตก”(Francia Occidentalis) ซึ่งครอบคลุมดินแดนทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโรน (Rhône)แม่น้ำโซน (Saône) แม่น้ำเมิส (Meuse) และแม่น้ำสเกลต์ (Scheldt) หรือดินแดนเกือบทั้งหมดที่เป็นประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน
     ใน ค.ศ. ๙๘๗ เมื่อกษัตริย์แห่งราชวงศ์คาโรลินเจียนสิ้นสายลง ฮิว กาเป(Huge Capet)ดุ็กแห่งฝรั่งเศสได้รับเลือกจากบรรดาขุนนางให้เป็นกษัตริย์ และนับเป็นการเริ่มต้นของการก่อตั้งประเทศฝรั่งเศส สมาชิก (ชาย) ของราชวงศ์กาเปได้สืบทอดบัลลังก์ต่อมาเป็นเวลา ๓๔๑ ปี (ค.ศ. ๙๘๗-๑๓๒๘) และสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถาบันกษัตริย์ฝรั่งเศสมากขึ้นเป็นลำดับ กษัตริย์แห่งราชวงศ์190 สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถานกาเปทรงใช้และขยายพระราชอำนาจและพระราชสิทธิตามระบอบการปกครองแบบฟิวดัลจาก “พระราชอาณาเขตในปกครอง”(royal domain) ใน “อีลเดอฟรองซ์”(Ile de France) อันได้แก่ กรุงปารีส ออร์เลออง (Orl”ans) และปริมณฑลให้กว้างขวางไปยังดินแดนส่วนต่าง ๆ ของฝรั่งเศสด้วย ในรัชสมัยพระเจ้าฟิลิปที่ ๒ หรือพระเจ้าฟิลิปออกัสตัส (Philip II; Philip Augustus ค.ศ. ๑๑๘๐-๑๒๒๓) กษัตริย์ฝรั่งเศสได้มีบทบาทสำคัญในสงครามครู เสด (Crusades) อีกทั้งได้ขยายพระราช-อาณาเขตในปกครองทั้งในตอนเหนือและตอนใต้ของประเทศ และสามารถใช้พระราชอำนาจตามระบอบการปกครองแบบฟิวดัลเข้ายึดครองแคว้นนอร์มองดี(Normandy) และแคว้นอองชู (Anjou) ซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจักรวรรดิแอนเจวิน (Angevin Empire) ที่อยู่ใต้ปกครองของพระเจ้าจอห์น (John ค.ศ. ๑๑๙๙-๑๒๑๖) แห่งอังกฤษซึ่งทรงมีฐานะเป็นดุ็กแห่งนอร์มองดีและเคานต์แห่งอองชู[โดยนัยนี้กษัตริย์อังกฤษจึงทรงมีฐานะเป็นขุนนางรับใช้ (vassal) ของกษัตริย์ฝรั่งเศสด้วย] นอกจากนี้ ใน ค.ศ. ๑๒๑๔ ฝรั่งเศสยังสามารถมีชัยชนะต่อกองทัพของอังกฤษและจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) ในการรบที่บูีวน(Bouvines)อีกด้วย ฝรั่งเศสจึงกลายเป็นมหาอำนาจยุโรปนับแต่นั้นเป็นต้นมา
     ใน ค.ศ. ๑๓๒๘ เมื่อพระเจ้าชาร์ลที่ ๔ (Charles IV ค.ศ. ๑๓๒๒-๑๓๒๘)กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์กาเปสิ้นพระชนม์ลงโดยปราศจากรัชทายาท ราช-บัลลังก์จึงตกเป็นของฟิลิปแห่งวาลัว (Philip of Valois) ซึ่งทรงเฉลิมพระนามเป็นพระเจ้าฟิลิปที่ ๖ (Philip VI ค.ศ. ๑๓๒๘-๑๓๕๐) การขึ้นครองราชสมบัติของพระเจ้าฟิ ลิปที่ ๖ กอปรกับการขัดผลประโยชน์กันระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสที่แคว้นแฟลนเดอส์ (Flanders) ทำให้พระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๓ (Edward III ค.ศ. ๑๓๒๗-๑๓๗๗) แห่งอังกฤษทรงอ้างสิทธิในบัลลังก์ฝรั่งเศสในฐานะพระราชนัดดา (หลานตา)ของพระเจ้าฟิลิปที่ ๔ (Philip IV ค.ศ. ๑๒๘๕-๑๓๑๔) และก่อให้เกิด “สงครามร้อยปี”(One Hundred Yearsû War) ระหว่าง ค.ศ. ๑๓๓๗-๑๔๕๓ เมื่อสงครามสิ้นสุดลงอังกฤษได้สูญเสียดินแดนทั้งหมดที่ครอบครองในภาคพื้นทวีปยุโรปยกเว้นเมืองกาเล(Calais) ซึ่งต่อมาใน ค.ศ. ๑๕๕๘ ก็ได้สูญเสียเมืองนี้ให้แก่ฝรั่งเศส แม้สงครามร้อยปีจะสร้างความหายนะทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ฝรั่งเศส แต่ในด้านการเมืองกษัตริย์ฝรั่งเศสกลับมีพระราชอำนาจมากยิ่งขึ้น ทรงเรียกเก็บภาษีอากรได้โดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และมีกองทัพประจำการที่ทหารมีเงินเดือนประจำด้วย
     ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๙ (Louis IX ค.ศ. ๑๔๖๑-๑๔๘๓) และพระเจ้าชาร์ลที่ ๘ (Charles VIII ค.ศ. ๑๔๘๓-๑๔๙๘) ฝรั่งเศสได้ครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของดัชชีเบอร์กันดี(Duchy of Burgundy) และดัชชีบริตตานี(Duchy ofBrittany) ตามลำดับ ทำให้กษัตริย์ฝรั่งเศสทรงขยายพระราชอำนาจและสถาปนาอำนาจสูงสุดในการปกครองดินแดนต่าง ๆ ทั่วฝรั่งเศสซึ่งมีสถานภาพเป็น “พระราชอาณาเขตในปกครอง”ของพระองค์ได้สำเร็จ
     ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการรวมดินแดนต่าง ๆ เป็นปึกแผ่นแล้ว เศรษฐกิจของฝรั่งเศสก็เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว และมีการขยายตัวทางด้านการค้าอย่างกว้างขวาง แต่ขณะเดียวกันฝรั่งเศสก็ต้องเผชิญกับความยุ่งยากทางด้านการเมืองและปัญหาทางศาสนา ซึ่งเป็นผลจากการปฏิรูปศาสนา(Reformation) ที่เริ่มต้นในดินแดนเยอรมันใน ค.ศ. ๑๕๑๗ และขยายตัวไปยังดินแดนต่าง ๆ ในยุโรป ในปลายทศวรรษ ๑๕๔๐ นิกายกัลแวง (Calvinism) ที่เป็นนิกายหนึ่งของโปรเตสแตนต์ได้เริ่มเข้ามาเผยแผ่ในฝรั่งเศสและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ก่อให้เกิดความแตกแยกทางศาสนาระหว่างผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกกับผู้ที่เปลี่ยนไปนับถือนิกายกัลแวง ซึ่งมีชื่อเรียกว่าพวก “อูเกอโน”(Huguenot) ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวเป็นทั้งเรื่องการเมืองและศาสนา เพราะฝ่ายคาทอลิกไม่พอใจว่าในอนาคตราชบัลลังก์ฝรั่งเศสอาจจะต้องตกเป็นของผู้ที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ในที่สุด ทั้ง ๒ ฝ่ายก็ได้ทำสงครามศาสนาและสงครามกลางเมืองติดต่อกันกว่า๑๐ ปี ในคืนหนึ่งของเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๕๗๒ ได้เกิดการสังหารหมู่ในวันเซนต์บาร์โทโลมิว (St. Bartholomews Day Massacre) ที่พวกคาทอลิกลอบสังหารพวกอู เกอโนและผู้นำจำนวน ๓,๐๐๐ คนที่มาชุมนุมกันในกรุงปารีสเพื่อร่วมในพิธีอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายเฮนรีแห่งนาวาร์ (Henry of Navarre) ผู้นำคนสำคัญของพวกอูเกอโนกับเจ้าหญิงมาร์กาเรต (Margaret)พระขนิษฐาในพระเจ้าชาร์ลที่ ๙(Charles IX ค.ศ ๑๕๖๐-๑๕๗๔) กษัตริย์ของฝรั่งเศสในขณะนั้น
     ใน ค.ศ. ๑๕๘๙ หลังจากความวุ่นวายทางสังคมดังกล่าว และการสวรรคตของพระเจ้าเฮนรีที่ ๓ (Henry III ค.ศ. ๑๕๗๔-๑๕๘๙) แห่งราชวงศ์วาลัวโดยปราศจากองค์รัชทายาท พระเจ้าเฮนรีที่ ๓ แห่งนาวาร์ (หรือในอดีตคือเจ้าชายเฮนรีแห่งนาวาร์)พระญาติที่สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๙ ก็ได้รับสิทธิชอบธรรมตามกฎหมายซาลิก (Salic Law) ในการสืบราชสมบัติฝรั่งเศส ทรงมีพระนามว่าพระเจ้าเฮนรีที่ ๔ (Henry IV ค.ศ. ๑๕๘๙-๑๖๑๐) และเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์บูร์บง(Bourbon)พระเจ้าเฮนรีที่ ๔ ทรงประนีประนอมกับฝ่ายคาทอลิกและหันมานับถือนิกายโรมันคาทอลิกตามพระราชธรรมเนียมของกษัตริย์ฝรั่งเศสที่ทุกพระองค์นับแต่พระเจ้าเปแปงที่ ๓ ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกของคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกขณะเดียวกัน ก็ทรงออกพระราชกฤษฎีกาแห่งเมืองนองต์ (Edict of Nantes) ในค.ศ. ๑๕๙๘ เพื่อให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ความเสมอภาคในสังคมและการมีอำนาจทางการทหารในระดับหนึ่งแก่พวกอู เกอโนด้วย ปัญหาความแตกแยกทางศาสนาและสังคมจึงยุติลงได้และทำให้ฝรั่งเศสมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น
     คริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ เป็นยุคทองของฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔(Louis XIV ค.ศ. ๑๖๔๓-๑๗๑๕) สถาบันกษัตริย์มีอำนาจสูงสุด วัฒนธรรมฝรั่งเศสซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปกรรมแบบเรอเนซองซ์ (Renaissance) ของอิตาลี ได้พัฒนาและเจริญถึงขีดสูงสุดในฝรั่งเศสด้วย และพระราชวังแวร์ซาย (Versailles) ซึ่งเป็นพระราชวังที่สร้างขึ้นใหม่ในชานกรุงปารีสก็เป็นศูนย์กลางของความเจริญ ความรำรวยหร่ ูหราและฟุ่มเฟือยที่สุดในยุโรป ส่วนในด้านการต่างประเทศ พระองค์ก็ทรงสืบทอดนโยบายการขยายอำนาจตามนโยบายของคาร์ดินัลรีเชอลีเยอ (CardinalRichelieu) อัครมหาเสนาบดีในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๓ (Louis XIII ค.ศ.๑๖๑๐-๑๖๔๓)พระราชบิดา ฝรั่งเศสมีทหารประจำการ ๑๐๐,๐๐๐ คนในยามปรกติและสามารถเรียกระดมพลได้ ๔๐๐,๐๐๐ คนในยามสงครามพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงก่อสงครามสิทธิในพระราชมรดก (War of Devolution ค.ศ. ๑๖๖๗-๑๖๖๘) สงครามรุกรานฮอลแลนด์ (War of the Dutch Invasion ค.ศ. ๑๖๗๒-๑๖๗๘) และสงครามสันนิบาตเอาก์สบูร์ก (War of the League of Augsburg ค.ศ. ๑๖๘๙-๑๖๙๗)เพื่อขยายพรมแดนของฝรั่งเศสเข้าไปในเนเธอร์แลนด์ ของสเปน [(SpanishNetherlands) ปัจจุบันคือประเทศเบลเยียม ] สหมณฑล [(United Provinces) ปัจจุบันคือประเทศเนเธอร์แลนด์ ] และดินแดนเยอรมัน แม้ฝรั่งเศสจะได้ครอบครองดินแดนเพิ่มเติมจากสงครามดังกล่าวนี้ แต่ได้สูญทั้งทรัพย์สินและชีวิตของทหารเป็นจำนวนมาก
     ในปลายรัชกาลพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ยังทำสงครามการสืบราชบัลลังก์สเปน (War of the Spanish Succession ค.ศ. ๑๗๐๒-๑๗๑๓) กับมหาอำนาจยุโรปอื่น ๆเพื่อสนับสนุนให้เจ้าชายฟิลิป เคานต์แห่งอองชู (Philippe, Count of Anjou)พระราชนัดดาซึ่งรับสถาปนาเป็นพระเจ้าฟิลิปที่ ๕ (Philip V) แห่งสเปน ให้ครองราชสมบัติต่อไป สงครามสืบราชบัลลังก์สเปน ได้สร้างความเสียหายอย่างมหันต์ให้แก่ฝรั่งเศสทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ สงครามสิ้นสุดลงด้วยสนธิสัญญายู เทรกต์ (Treaty of Utrecht) ใน ค.ศ. ๑๗๑๔ โดยประเทศคู่สงครามยอมรับให้ราชวงศ์บูร์บงปกครองสเปน ได้ แต่ต้องแยกสาแหรกและอำนาจจากราชวงศ์บูร์บงของฝรั่งเศสอย่างเด็ดขาด ฝรั่งเศสต้องสูญเสียอาณานิคมบางส่วนในทวีปอเมริกาเหนือให้แก่อังกฤษ และฐานะทางการเงินของรัฐบาลอยู่ในสภาพล้มละลายซึ่งส่งผลกระทบให้รัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ (Louis XV ค.ศ. ๑๗๑๕-๑๗๗๔)ต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นระยะเวลายาวนาน นอกจากนี้ อังกฤษยังกลายเป็นคู่แข่งขันทางการค้าที่สำคัญของฝรั่งเศสและแย่งชิงความยิ่งใหญ่กัน การแข่งขันดังกล่าวได้เป็นสาเหตุของการที่ทั้ง ๒ ประเทศต้องเข้าร่วมในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุโรปอันได้แก่ สงครามการสืบราชบัลลังก์โปแลนด์ (War of thePolish Succession ค.ศ. ๑๗๓๓-๑๗๓๘) สงครามระหว่างอังกฤษกับสเปน (Anglo-Spanish War ค.ศ. ๑๗๓๙) สงครามการสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย (War of theAustrian Succession ค.ศ. ๑๗๔๐-๑๗๔๘) และสงครามเจ็ดปี (Seven Yearsû Warค.ศ. ๑๗๕๖-๑๗๖๓) สงครามต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดหนี้สินที่รัฐบาลฝรั่งเศสต้องชดใช้เป็นอันมากและเป็นปัญหาความยุ่งยากทางการคลังที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ (Louis XVI ค.ศ. ๑๗๗๔-๑๗๙๒) ต้องเผชิญในทันทีที่เสด็จขึ้นครองราชสมบัติใน ค.ศ. ๑๗๗๔
     อย่างไรก็ดี แม้จะประสบความล้มเหลวในด้านนโยบายการต่างประเทศและการสงคราม แต่ฝรั่งเศสก็ยังคงเป็นประเทศมหาอำนาจที่สุดในภาคพื้นทวีปยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ รสนิยมของชาวฝรั่งเศสในด้านสถาปัตยกรรม เครื่องแต่งกายศาสตร์และศิลป์ ตลอดจนกิิรยามารยาทล้วนแต่เป็นแม่แบบให้แก่โลกตะวันตกนอกจากนี้ ความคิดทางด้านสังคมและการเมืองของนักปรัชญาเมธีในฝรั่งเศส เช่นวอลแตร์ (Voltaire) มงเตสกีเยอ (Montesquieu)ดีเดอโร (Diderot) รูโซ (Rousseau)ตลอดจนนักปรัชญาเมธีอื่น ๆ ในยุคภูมิธรรมก็ยังมีอิทธิพลต่อปัญญาชนทั้งในยุโรปและอเมริกา และโดยเฉพาะชนชั้นกลางชาวฝรั่งเศสให้คิดเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศ
     วิกฤตการณ์ด้านการคลังที่เรื้อรังมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน กอปรกับความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนขณะที่ราชสำนักฝรั่งเศสยังคงความหรูหราฟุ่มเฟือยและงานฉลองเลี้ยงที่ไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้ชาวปารีสไม่พอใจราชสำนักมากขึ้นทั้งนำไปสู่การเปิดประชุมสภาฐานันดรแห่งชาติ(Estates-General)เพื่อหาทางแก้ิวกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ผู้แทนของฐานันดรที่ ๑ และ๒ ซึ่งได้แก่พวกพระและขุนนาง ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมประชุมกับผู้แทนฐานันดรที่ ๓ซึ่งได้แก่ ประชากรส่วนที่เหลือทั้งหมด ผู้แทนฐานันดรที่ ๓ ส่วนใหญ่จึงประกาศตนเป็นสมัชชาแห่งชาติ(National Assembly) และจัดประชุมขึ้นบริเวณสนามเทนนิสโดยกล่าวคำปฏิญญาสนามเทนนิส (Tennis Court Oath) ว่าจะประชุมกันจนกว่าจะร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ จึงมีพระราชบัญชาให้ฐานันดรที่ ๑และที่ ๒ เข้าร่วมประชุมด้วยกันและให้ออกเสียงเป็นรายบุคคล แต่ขณะเดียวกันก็ทรงเรียกทหารมาประจำการรอบกรุงปารีสและพระราชวังแวร์ซาย ต่อมาเมื่อเกิดข่าวลือว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ จะใช้กำลังปราบปรามประชาชนและยุบสภา จึงได้เกิดเหตุการณ์การทลายคุกบาสตีย์ (Fall of the Bastille) เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคมค.ศ. ๑๗๘๙ คุกแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของการไร้เสรีภาพทางการเมืองของประชาชนและการปกครองแบบกดขี่ของราชวงศ์บูร์บง การทลายคุกบาสตีย์ดังกล่าวจึงนับเป็นเหตุการณ์เริ่มต้นของการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙อีก ๓ วันต่อมาพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ได้เสด็จนิวัติกรุงปารีสและยอมรับให้เครื่องหมายโบวงกลมสีแดง ขาว และน้ำเงิน เป็นสัญลักษณ์ใหม่ของชาติฝรั่งเศส โดยสีแดงและสีน้ำเงินเป็นสีของกรุงปารีสส่วนสีขาวเป็นสีของดอกลิลลี(Lily)อันเป็นสีประจำของสถาบันกษัตริย์ สีไตรรงค์ดังกล่าวจึงกลายเป็นสีของธงชาติฝรั่งเศสตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๙๔ เป็นต้นมา
     ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ มีการออกพระราชกฤษฎีกาหลายฉบับที่เรียกว่าพระราชกฤษฎีกาเดือนสิงหาคม (August Decrees) ยกเลิกระบอบการปกครองแบบฟิวดัลและข้อปฏิบัติต่าง ๆ ของระบอบเก่า ทั้งมีการประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง (Declaration of the Rights of Man and of Citizen) ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของพลเมือง ต่อมาใน ค.ศ. ๑๗๙๐ มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญสงฆ์ (Civil Constitution of the Clergy) เพื่อให้คริสตจักรโรมันคาทอลิกของฝรั่งเศสแยกตัวเป็นอิสระจากกรุงโรมและไม่อยู่ในอำนาจของสันตะปาปาอีกต่อไป ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ไม่ทรงเห็นด้วยกับพระราชบัญญัติธรรมนูญสงฆ์ แต่ก็ต้องทรงจำยอมรับและกลายเป็นสาเหตุสำคัญอีกประการที่ทำให้พระองค์ไม่สามารถร่วมมือกับผู้ก่อการปฏิวัติได้
     ใน ค.ศ. ๑๗๙๑ ฝรั่งเศสประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกโดยสถาปนาระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้น แต่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ไม่ทรงยอมรับและทรงวางแผนให้กองทัพต่างชาติเข้ามาช่วยปราบปรามการปฏิวัติและรื้อฟื้นระบอบการปกครองแบบเก่า ทั้งยังทรงพยายามพาพระราชวงศ์หลบหนีออกจากฝรั่งเศส สภากงวองซิยงแห่งชาติ (National Convention) จึงประกาศล้มเลิกระบอบกษัตริย์และเปลี่ยนการปกครองเป็นสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๑ (First Republic of France)ต่อมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๗๙๒ มีการพิจารณาความผิดพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖พระองค์ถูกพวกปฏิวัติกล่าวหาว่าเป็นผู้ทรยศต่อประเทศและทรงถูกตัดสินปลงพระชนม์ด้วยเครื่องกิโยตีนเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ค.ศ. ๑๗๙๓ ส่วนสมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนต (Marie Antoinette) พระราชธิดาในจักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑(Francis I ค.ศ. ๑๗๔๕-๑๗๖๕) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และทรงเป็นสมาชิกของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg) ที่ยิ่งใหญ่ของออสเตรีย ก็ทรงประสบชะตากรรมเดียวกันในวันที่ ๑๖ ตุลาคม ปี เดียวกันนั้น
     การลงโทษประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ดังกล่าวนี้ได้สร้างความแตกแยกในหมู่ชาวฝรั่งเศสเป็นอันมากอีกทั้งยังเป็นเสมือนการท้าทายกษัตริย์องค์ือ่น ๆ ที่ยังปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ีอกด้วย จึงทำให้สงครามปฏิวัติฝรั่งเศส(French Revolutionary Wars ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๘๐๒) ที่ฝรั่งเศสทำกับออสเตรีย ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๙๒ ขยายตัวมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดการรวมตัวระหว่างมหาอำนาจยุโรปกับนานาประเทศน้อยใหญ่เพื่อต่อสู้กับฝรั่งเศสซึ่งได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐแล้ว สงครามปฏิวัติฝรั่งเศสได้ดำเนินเป็นเวลา ๑๐ ปีและยุติลงใน ค.ศ. ๑๘๐๒ด้วยชัยชนะของฝรั่งเศส
     ระหว่างที่สงครามปฏิวัติฝรั่งเศสดำเนินอยู่นั้น กลุ่มชาโกแบง (Jacobin)หรือมงตาญาร์ (Montagnard) สามารถแย่งชิงอำนาจได้จากกลุ่มชีรงแด็ง (Girondin)ซึ่งเป็นพวกเดินสายกลาง มักซีมีเลียง โรแบสปี แยร์ (Maximilien Robespierre) ซึ่งเป็นหัวหน้าของกลุ่มชาโกแบงได้ใช้อำนาจเผด็จการในการปกครองประเทศและกำจัดศัตรูและผู้ต่อต้านการปฏิวัติเป็นจำนวนมาก ตลอดจนออกกฤษฎีกาหลายฉบับเพื่อปกป้องชัยชนะของการปฏิวัติ สังคมฝรั่งเศสจึงปั่นป่วนและหวาดระแวงกันจนเป็นช่วงเวลาที่ได้รับการขนานนามว่า “สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว”(Reign of Terror)อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งในหมู่ผู้นำการปฏิวัติและการสังหารประชาชนจำนวนมากที่ถูกกล่าวหาเป็นศัตรูของการปฏิวัติก็ทำให้โรแบสปี แยร์ในท้ายที่สุดถูกโค่นอำนาจและถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีนเช่นเดียวกับศัตรูที่เขากำจัดเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคมค.ศ. ๑๗๙๔ ตรงกับวันที่ ๙ แตร์มีดอร์ (9 Thermidor) ตามปฏิทินสมัยปฏิวัติฝรั่งเศส(French Revolutionary Calendar) หรือปฏิทินสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๑(Republican Calendar) ซึ่งใช้แทนปฏิทินเกรกอรี
     การประหารชีวิตโรแบสปี แยร์นับเป็นการสิ้นสุดสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัวมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใน ค.ศ. ๑๗๙๕ เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นระบบคณะกรรมการอำนวยการ (Directory ค.ศ. ๑๗๙๕-๑๗๙๙) ซึ่งเป็นรัฐบาลสุดท้ายของยุคการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ เพื่อปกป้องหลักการของการปฏิวัติ แต่คณะกรรมการอำนวยการก็ล้มเหลวในการบริหารประเทศเพราะไม่อาจแก้ิวกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมได้ ทั้งมีนโยบายเผด็จการ จึงไม่เป็นที่นิยมของประชาชน นายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) จึงร่วมมือ
     กับเอมมานู เอล-โชแซฟ ซีแยส (Emmanuel-Joseph Sieyes) ผู้บริหารปกครองคนหนึ่งในคณะกรรมการอำนวยการก่อรัฐประหารเดือนบูร์แมร์ (Coup dû EtatBrumaire) เมื่อวันที่ ๙พฤศจิกายน และจัดตั้งการปกครองระบบกงสุล (ConsulateSystem ค.ศ. ๑๗๙๙-๑๘๐๔) ซึ่งเป็นระบบการปกครองแบบคณาธิปไตยภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคมค.ศ. ๑๗๘๙ โดยคณะผู้บริหารประกอบด้วยกงสุล ๓ คนที่มีอำนาจเต็มที่และรับผิดชอบโดยตรงต่อประชาชน นโปเลียนเป็นกงสุลที่ ๑ ซึ่งเป็นประมุขฝ่ายบริหารควบคู่กับเป็นจอมทัพโดยมีวาระ ๑๐ ปี สมัยกงสุลประสบความสำเร็จอย่างมากในการปฏิรูประบบการเงินและการคลังของประเทศและแก้ไขวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งมีการชำระและจัดทำกฎหมายประเภทต่าง ๆ ที่เรียกว่าประมวลกฎหมายนโปเลียน(Code Napoleon) รวมทั้งแก้ไขความขัดแย้งระหว่างรัฐกับศาสนจักรในความตกลงระหว่างสันตะปาปากับรัฐบาล ค.ศ. ๑๘๐๑ (Concordat of 1801) ความสำเร็จในการบริหารประเทศและการสร้างสันติภาพด้วยการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพอาเมียง (Treaty of Amiens) กับอังกฤษใน ค.ศ. ๑๘๐๒ยังทำให้นโปเลียนได้รับความนิยมจากประชาชนมากขึ้น เมื่อนโปเลียนขอให้มีการลงประชามติล้มระบบกงสุลและสถาปนาระบบจักรวรรดิชาวฝรั่งเศสจึงสนับสนุนเขาอย่างมาก และสภาสูงก็ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้เขาดำรงตำแหน่งจักรพรรดิเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๐๔ ระบบกงสุลจึงสิ้นสุดลงและเป็นการเริ่มต้นของสมัยจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ (First Empire of France ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๔)
     ในรัชสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ฝรั่งเศสได้ก่อสงครามนโปเลียน(Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕) กับนานาประเทศหลายครั้งเพื่อขยายอำนาจและอิทธิพลไปทั่วยุโรป ในระยะแรก ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายที่ได้รับชัยชนะและสามารถบีบบังคับให้ประเทศมหาอำนาจ คือ ออสเตรีย ปรัสเซีย และรัสเซีย ต้องสงบศึกและลงนามในสนธิสัญญาฉบับต่าง ๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ฝรั่งเศสอย่างไร
     






     ก็ดี ความปราชัยในการทำสงครามกับอังกฤษ สเปน และโปรตุเกส ในสงครามคาบสมุทร (Peninsular War ค.ศ. ๑๘๐๘-๑๘๑๔) และความล้มเหลวในการใช้ระบบภาคพื้นทวีป (Continental System) เพื่อทำลายเศรษฐกิจของอังกฤษได้ทำให้ประเทศที่ต้องตกเป็นพันธมิตรของฝรั่งเศสหันไปร่วมมือกับอังกฤษในการต่อต้านฝรั่งเศส จนในที่สุด ฝรั่งเศสต้องยอมจำนนต่อกองทัพของฝ่ายพันธมิตรที่เดินทัพเข้าสู่กรุงปารีสในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๑๔ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงถูกประเทศสหพันธมิตรและวุฒิสภาฝรั่งเศสบังคับให้สละราชย์และถูกเนรเทศไปประทับที่เกาะเอลบา (Elba) จักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ จึงสลายลง
     ในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕)ประเทศมหาอำนาจตกลงให้ฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงขึ้นปกครองฝรั่งเศสอีก โดยมีพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ (Louis XVIII ค.ศ. ๑๘๑๕-๑๘๒๔)พระอนุชาของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติอย่างไรก็ดี การสืบราชบัลลังก์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ จำต้องยุติลงในระยะเวลาอันสั้นเมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เสด็จหนีออกจากเกาะเอลบาที่ทรงถูกเนรเทศกลับมาปกครองฝรั่งเศสในฐานะจักรพรรดิีอกครั้งในสมัยร้อยวัน (Hundred Days ๒๐ มีนาคม-๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๕) ทรงประกาศปกครองประเทศแบบเสรีนิยมและให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนกว้างขวางมากขึ้น ทั้งจะสร้างสันติภาพและความสงบสุขแก่ยุโรป แต่ประเทศสหพันธมิตรซึ่งประกอบด้วย อังกฤษ ปรัสเซีย ออสเตรีย และรัสเซีย ไม่เชื่อพระองค์และรวมกันต่อต้านพระองค์ีอกครั้ง ในยุทธการที่วอเตอร์ลู (Battle of Waterloo) เบลเยียม จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงพ่ายแพ้และทรงถูกบังคับให้สละราชย์ีอกครั้งหนึ่งอังกฤษเนรเทศพระองค์ไปประทับยังเกาะเซนต์เฮเลนา (St. Helena) ในมหาสมุทรแอตแลนติกและทรงถูกควบคุมในฐานะนักโทษ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๘ ทรงได้รับอัญเชิญให้เสด็จกลับมาปกครองฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ.๑๘๑๕ จนถึง ค.ศ. ๑๘๒๔
     ในรัชสมัยพระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ (Charles X ค.ศ. ๑๘๒๔-๑๘๓๐) ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์บูร์บงที่ครองบัลลังก์ฝรั่งเศสทรงพยายามฟื้นฟูพระราชอำนาจกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อภิสิทธิ์ ของขุนนางตลอดจนอิทธิพลของคริสตจักรโรมันคาทอลิก แต่ทรงประสบความล้มเหลวในนโยบายดังกล่าวจึงทรงออกพระราชกำหนดแซงกลู (Ordinance of St. Cloud) รวม ๔ ฉบับในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๓๐ยุบสภา เปลี่ยนแปลงกฎหมายการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจะสงวนสิทธิ์ ให้แก่เจ้าของที่ดินรายใหญ่ ๆ ที่สนับสนุนพระองค์ กำหนดเกณฑ์การเลือกตั้งใหม่และยกเลิกเสรีภาพของหนังสือพิมพ์พระราชกำหนดทั้ง ๔ ฉบับได้นำไปสู่การเกิดการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม (July Revolution) ค.ศ. ๑๘๓๐ พระเจ้าชาร์ลที่ ๑๐ ทรงถูกบีบบังคับให้สละราชสมบัติและเสด็จหนีออกนอกประเทศไปประทับที่อังกฤษและออสเตรีย ตามลำดับ ดุ็กแห่งออร์เลออง (Duke of Orl”ans) แห่งราชสกุลออร์เลอองซึ่งเกี่ยวเนื่องเป็นพระญาติกับราชวงศ์บูร์บงได้รับอัญเชิญขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป (Louis Philppe ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๔๘)
     ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป อุตสาหกรรมของฝรั่งเศสได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และจำนวนชนชั้นแรงงานก็เพิ่มจำนวนมากเช่นกัน กล่าวคือ ชนชั้นแรงงานมีจำนวนถึง ๙ ล้านคนจากจำนวนประชากรทั้งสิ้น ๓๖ ล้านคน แต่รัฐบาลก็เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องและสวัสดิการต่าง ๆ ของชนชั้นแรงงาน ในที่สุด ชนชั้นแรงงานได้รวมพลังกันต่อต้านนโยบายเอาใจชนชั้นกลางระดับสูงของพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป แต่กลุ่มที่ต่อต้านพระองค์มากที่สุดได้แก่ พวกที่นิยมราชวงศ์โบนาปาร์ตซึ่งจัดให้มีการประชุมในรูปแบบของงานเลี้ยง (banquets) บังหน้า เพื่อถกเถียงปัญหาทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ได้มีการเรียกร้องให้ปลดฟรองซัว-ปี แยร์-กีโยม กีโซ(Fran“ois-Pierre-Guillaume Guizot) นายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง กีโซจึงออกคำสั่งห้ามการชุมนุมจัดงานเลี้ยงอีกต่อไป แต่การสั่งห้ามดังกล่าวก่อให้เกิดการจลาจลขึ้นในกรุงปารีส และลุกลามเป็นการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (FebruaryRevolution ค.ศ. ๑๘๔๘) และการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)ไปทั่วยุโรป พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปทรงลี้ภัยไปพำนักที่อังกฤษ พวกปฏิวัติจึงประกาศล้มล้างระบอบกษัตริย์และจัดตั้งคณะรัฐบาลชั่วคราวของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒ขึ้น และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ ปรากฏว่าเจ้าชายหลุยส์ โบนาปาร์ต (Louis Bonaparte) พระภาติยะ (หลานลุง) ของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น
     หลังจากได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว เจ้าชายหลุยส์โบนาปาร์ตทรงเรียกคะแนนนิยมจากประชาชนด้วยการปฏิรูปทางการเมืองและให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น กอปรกับความนิยมของชาวฝรั่งเศสในความยิ่งใหญ่ของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๕๑ เจ้าชายหลุยส์โบนาปาร์ตจึงก่อรัฐประหารเพื่อยืดอายุการเป็นประธานาธิบดีจาก ๔ปีออกไปเป็น๑๐ ปี รวมทั้งให้ประธานาธิบดีมีอำนาจในการบริหารทั้งหมด ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๕๒ พระองค์จัดให้มีการลงประชามติเพื่อยกเลิกสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒ และให้ฝรั่งเศสกลับไปใช้ระบบการปกครองแบบจักรวรรดิีอกครั้งหนึ่งเป็นจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๒ (Second Empire of France ค.ศ. ๑๘๕๒-๑๘๗๐) และสถาปนาพระองค์เป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napoleon III ค.ศ. ๑๘๕๒-๑๘๗๐)
     ใน ค.ศ. ๑๘๕๓ ฝรั่งเศสได้ร่วมมือกับอังกฤษในสงครามไครเมีย (CrimeanWar ค.ศ. ๑๘๕๓-๑๘๕๖) เพื่อสกัดกั้นการขยายอำนาจของรัสเซีย ในคาบสมุทรบอลข่านที่จักรวรรดิออตโตมันปกครองอยู่ ซึ่งนับเป็นสงครามใหญ่ครั้งแรกระหว่างประเทศมหาอำนาจยุโรปหลังจากการว่างเว้นการสงครามเป็นเวลาเกือบ ๔๐ ปีสงครามไครเมียสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศส และการทำสนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris) ใน ค.ศ. ๑๘๕๖ ชัยชนะครั้งนี้ทำให้ฝรั่งเศสสามารถกอบกู้ชื่อเสียงของประเทศหลังจากที่ตกตำเป่ ็นเวลานานให้กลับคืนมาอีกทั้งยังทำให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ คิดดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่ต้องการเผยแพร่ชื่อเสียงของราชวงศ์โบนาปาร์ตและประเทศฝรั่งเศสต่อไปอีกด้วย
     อย่างไรก็ดี การไม่สามารถขัดขวางความพยายามรวมชาติอิตาลี ในปลายทศวรรษ ๑๘๕๐ รวมทั้งความล้มเหลวในการยึดครองเม็กซิโกเพื่อสร้างจักรวรรดิคาทอลิกในโลกใหม่ในต้นทศวรรษ ๑๘๖๐ โดยการสนับสนุนให้อาร์ชดุ็กมักซีมีเลียน(Maximilian) แห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์ก พระอนุชาในจักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟ(Francis Joseph ค.ศ. ๑๘๔๘-๑๙๑๖) แห่งออสเตรีย เป็นจักรพรรดิแห่งเม็กซิโกทำให้เกียรติภูมิของประเทศตกต่ำลง นอกจากนี้ในรัชสมัยของพระองค์ ฝรั่งเศสยังต้องพ่ายแพ้ทางการทูตกับปรัสเซีย หลายครั้ง จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ทรงถูกออทโทฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck) อัครมหาเสนาบดีแห่งปรัสเซีย ยั่วยุให้ก่อสงครามฝรั่งเศสปรัสเซีย เพราะปรัสเซีย ต้องการสร้างกระแสชาตินิยมและรวมดินแดนเยอรมันทั้งหมดให้เป็นปึกแผ่นโดยมีปรัสเซีย เป็นผู้นำ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ถูกจับตัวเป็นเชลยหลังการปราชัยที่สมรภูมิเมืองเซดอง (Sedan) และต้องประกาศสละราชสมบัติในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๗๐ นับเป็นการสิ้นสุดของจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๒ด้วย
     อย่างไรก็ดี สงครามก็ยังคงดำเนินต่อไปอีกเป็นเวลาหลายเดือน มีการจัดตั้งรัฐบาลป้องกันชาติ(Government of National Defense) เพื่อต่อสู้กับกองทัพปรัสเซีย ต่อไป กรุงปารีสถูกล้อมเป็นเวลาถึง ๔ เดือนจนเกิดภาวะการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง ในที่สุดรัฐบาลป้องกันชาติก็ตัดสินใจสงบศึกกับปรัสเซีย เมื่อวันที่ ๒๘มกราคม ค.ศ. ๑๘๗๑ แต่ไม่เป็นที่ยอมรับของชาวปารีส และได้มีการจัดตั้งคอมมูนแห่งปารีส (Commune of Paris) ซึ่งเป็นรัฐบาลส่วนท้องถิ่นขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ.๑๘๗๑ เพื่อผนึกกำลังของชาวปารีสในการต่อต้านการทำสนธิสัญญาสงบศึกของรัฐบาลกลางที่จัดทำขึ้นหลังจากสงครามยุติและวางรูปแบบการบริหารปกครองตนเอง นายกรัฐมนตรีอาดอล์ฟ ตีเย (Adolphe Thiers) ได้ส่งทหารเข้าปราบปรามอย่างรุนแรงและการต่อสู้ระหว่างทหารรัฐบาลกลางกับกองกำลังป้องกันชาติเริ่มขึ้นในเช้าวันที่ ๑๘ มีนาคม และยุติลงเมื่อวันที่ ๒๘พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๗๑ด้วยความพ่ายแพ้ของคอมมูนแห่งปารีส อย่างไรก็ตาม เรื่องราวการต่อสู้และการจัดตั้งระบบการปกครองตนเองของคอมมูนแห่งปารีสก็กลายเป็นตำนานเล่าขานในหมู่นักปฏิวัติและปัญญาชนฝ่ายซ้าย คาร์ล มากซ์ (Karl Marx) กล่าวว่าคอมมูนแห่งปารีสคือการจัดตั้งรัฐของชนชั้นกรรมาชีพรัฐแรกขึ้นในประวัติศาสตร์และบทเรียนของความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นเป็นแนวทางของการเคลื่อนไหวปฏิวัติครั้งใหม่ที่จะทำให้ชนชั้นกรรมาชีพมีชัยชนะอย่างเด็ดขาดและสมบูรณ์ นอกจากนี้ ในด้านของปรัสเซีย สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ทำให้บิสมาร์คสามารถประกาศสถาปนาจักรวรรดิเยอรมัน(German Empire) ได้สำเร็จ ณพระราชวังแวร์ซายเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ค.ศ. ๑๘๗๑และยังได้ครอบครองแคว้นอัลซาซ-ลอร์แรน (Alsace-Lorraine) ที่อุดมด้วยแร่ธาตุอีกด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการแก้แค้นและความพยายามกอบกู้เกียรติภูมิของฝรั่งเศส บิสมาร์คจึงได้สร้างระบบบิสมาร์ค (Bismarckian System) หรือระบบการผูกมิตรและนโยบายการต่างประเทศที่สามารถสกัดกั้นฝรั่งเศสไม่ให้มีพันธมิตรและต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นระยะเวลาอันยาวนาน อย่างไรก็ดี หลังจากบิสมาร์คสิ้นอำนาจใน ค.ศ. ๑๘๙๐ ฝรั่งเศสก็ได้ทำความตกลงฝรั่งเศส-รัสเซีย (Franco-Russian Entente) ใน ค.ศ. ๑๘๙๔ นับว่ารัสเซีย เป็นมิตรประเทศแรกของฝรั่งเศสที่มีสนธิสัญญาผูกมัดต่อกัน ต่อมา ฝรั่งเศสก็ได้ทำความตกลงฉันมิตร(Entente Cordiale) กับอังกฤษใน ค.ศ. ๑๙๐๔ และนำไปสู่การสถาปนาความตกลงไตรภาคี(Triple Entente) ระหว่างฝรั่งเศส รัสเซีย และอังกฤษใน ค.ศ. ๑๙๐๙ ซึ่งเป็นค่ายมหาอำนาจที่ผนึกกำลังกันต่อสู้กับฝ่ายเยอรมนี ในสงครามโลกครั้งที่ ๑
     ในสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ (ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๙๔๐) ฝรั่งเศสต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองซึ่งคุกคามความมั่นคงของสาธารณรัฐที่ ๓ หลายครั้งเช่น เหตุการณ์เรื่องบูลองเช (Boulanger Affair ค.ศ. ๑๘๘๙) ซึ่งกลุ่มฝ่ายขวาและกลุ่มสาธารณรัฐนิยมหัวรุนแรงสนับสนุนให้ชอร์ช บูลองเช (Georges Boulanger)ก่อรัฐประหารแต่ล้มเหลว กรณีือ้อฉาวเรื่องคลองปานามา (Panama Scandal) ซึ่งนักการเมืองจำนวนมากและรัฐมนตรีหลายคนถูกกล่าวหาพัวพันการรับสินบนและปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการล้มละลายของบริษัทขุดคลองปานามาในโครงการขุดคลองปานามา แต่เหตุการณ์เรื่องเดรฟุส (Dreyfus Affair) ที่เกิดขึ้นระหว่างค.ศ. ๑๘๙๔-๑๙๐๖ นับเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่สร้างความสั่นสะเทือนให้แก่ระบอบการปกครองสาธารณรัฐมากที่สุด โดยร้อยเอก อัลเฟรด เดรฟุส(Alfred Dreyfus) นายทหารประจำกรมเสนาธิการเชื้อสายยิวถูกจับด้วยข้อกล่าวหาว่าขายความลับทางการทหารให้แก่เยอรมนี เขาถูกศาลทหารจำคุกตลอดชีวิตและถูกสั่งไปอยู่ที่เกาะเดวิลส์ (Devilûs) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นขุมนรกของนักโทษ คดีเดรฟุสเป็นที่สนใจของสาธารณชนเป็นอันมาก ในระยะแรก ชาวฝรั่งเศสจำนวนมากปักใจเชื่อว่าเขาทรยศต่อชาติและเรียกร้องให้ลงโทษประหารชีวิต ทั้งขบวนการต่อต้านชาวยิวในฝรั่งเศสก็ก่อตัวขึ้น แต่ต่อมาเป็นที่ประจักษ์มากขึ้นว่าคดีนี้มีเงื่อนงำและเดรฟุสถูกกองทัพปรักปรำและคำตัดสินที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการโต้ แย้งทั้งยังขัดขวางกระบวนการยุติธรรม เหตุการณ์เรื่องเดรฟุสจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองและสังคม เพราะพวกที่เชื่อมั่นในอุดมการณ์ของระบอบสาธารณรัฐเห็นว่า กฎหมายต้องให้ความเสมอภาคและยุติธรรมแก่ทุกคนและเรียกร้องให้มีการพิจารณาคดีใหม่ แต่ศาสนจักรและกองทัพต่อต้านเพราะเห็นว่ากลุ่มเดรฟุสมุ่งทำลายเกียรติภูมิของประเทศและกองทัพ ทั้งยังทำให้ระบอบสาธารณรัฐตกอยู่ในห้วงอันตราย เป็นที่เชื่อกันว่านายทหารบางคนและกลุ่มขบวนการปฏิกิิรยาฝรั่งเศส(Action Fran“aise) ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาที่เป็นพวกนิยมกษัตริย์ (royalist)และต่อต้านยิว พยายามที่จะล้มล้างระบอบการปกครองสาธารณรัฐเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของสถาบันทหาร และรื้อฟื้นระบอบปรมิตาญาสิทธิราชย์ (DemocraticMonarchy) ขณะเดียวกัน พวกสาธารณรัฐนิยมก็ร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นในการพิทักษ์ระบอบการปกครองนี้ โดยยึดหลักการและอุดมการณ์ของสาธารณรัฐที่ให้ความเสมอภาคทางกฎหมายแก่ทุกคน เมื่อคดีเดรฟุสยุติลงใน ค.ศ. ๑๙๐๖ โดยศาลตัดสินให้เขาบริสุทธิ์ ระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐของฝรั่งเศสก็แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และเป็นอุทาหรณ์ให้แก่พวกสาธารณรัฐนิยมคิดเพิ่มอำนาจแก่ฝ่ายบริหารและลดอำนาจของกองทัพซึ่งต่อมาก็ประสบความสำเร็จเมื่อมีการจัดตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๕ ใน ค.ศ. ๑๙๕๘
     ในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ฝรั่งเศสต้องเผชิญกับการรุกรานของฝ่ายเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘) และสงครามโลกครั้งที่ ๒ (ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๕) ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ดินแดนฝรั่งเศสได้กลายเป็นสมรภูมิและถูกกองทัพเยอรมันโหมบุกตามนโยบาย “ขยี้ฝรั่งเศสให้สิ้นแรง”(to bleed France white) ซึ่งก่อให้เกิดความหายนะอย่างใหญ่หลวงแก่ฝรั่งเศสทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้ฝรั่งเศสซึ่งต่อมาเป็นฝ่ายชนะสงครามคิดแก้แค้นเยอรมนี ด้วยการตั้งเงื่อนไขอันเข้มงวดเพื่อลงโทษเยอรมนี อย่างรุนแรงในสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty ofVersailles ค.ศ. ๑๙๑๙) สนธิสัญญาแวร์ซายนี้จึงเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่สร้างความเคียดแค้นให้แก่ชาวเยอรมัน และต่อมาทำให้ชาวเยอรมันสนับสนุนการก้าวขึ้นมามีอำนาจของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) และพรรคนาซี(Nazi) ที่มีนโยบายต่อต้านสนธิสัญญาแวร์ซายและฟื้นฟูศักดิ์ศรีของเยอรมนี ดังนั้น ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ เยอรมนี ได้ใช้กำลังโหมโจมตีฝรั่งเศสอย่างรุนแรงในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ และประสบชัยชนะในยุทธการที่ฝรั่งเศส (Battle of France)กรุงปารีสถูกยึดครองได้อย่างรวดเร็วในวันที่ ๑๐ มิถุนายน รัฐบาลฝรั่งเศสต้องอพยพไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองตูร์ (Tours) ทางตอนใต้ของประเทศ ต่อมานายพลฟิลิปเปแตง (Philippe P”tain) ได้อำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ที่เมืองวิชี(Vichy)และยอมสงบศึกกับเยอรมนี ด้วยการลงนามการสงบศึก (Armistice) และยินยอมให้มหาอำนาจฝ่ายอักษะ (Axis Powers)ยึดครองประเทศได้ การพ่ายแพ้และต้องยินยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวนี้นับเป็นเรื่องอัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์สงครามของฝรั่งเศสและทำให้ชาวฝรั่งเศสผู้รักชาติสนับสนุนนายพลชาร์ลอองเดร โชแซฟ มารีเดอ โกล (Charles Andre Joseph Marie de Gaulle) ผู้จัดตั้งขบวนการฝรั่งเศสเสรี(Free French Movement) ซึ่งขณะนั้นลี้ภัยอยู่ในประเทศอังกฤษ ทำการต่อสู้กับเยอรมนี และมหาอำนาจฝ่ายอักษะต่อไป เดอ โกลสามารถรวบรวมขบวนการต่อต้านกลุ่มต่าง ๆ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยมีเขาเป็นผู้นำและนำกองกำลังฝรั่งเศสเสรีต่อต้านการโจมตีของเยอรมนี และอิตาลี ได้ในยุทธการที่บีร์ฮาเคม (Bir Hakeim)ใน ค.ศ. ๑๙๔๒ และทำให้บทบาทของกองกำลังฝรั่งเศสเป็นที่ยอมรับของฝ่ายพันธมิตร ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะสิ้นสุดลง ฝ่ายพันธมิตรก็เริ่มมีชัยชนะเป็นครั้งแรกด้วยการยกพลข้ามช่องแคบอังกฤษและขึ้นบกที่หาดนอร์มองดีในวันที่ ๖มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ หรือที่เรียกว่าวันดี-เดย์ (D-Day, 6th June 1944) และเริ่มปฏิบัติการรุกจนสามารถปลดปล่อยกรุงปารีสและดินแดนทางภาคเหนือจากการยึดครองของทหารเยอรมันได้
     หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เดอ โกลดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของรัฐบาลผสมชั่วคราว และดำเนินการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๕ ซึ่งจำกัดอำนาจของฝ่ายบริหาร เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ ก็ิส้นสุดลงโดยรัฐธรรมนูญฉบับสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๔ (Fourth French Republic) ใช้ต่อมาจนถึง ค.ศ. ๑๙๕๘ และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๗-๑๙๕๘ มีรัฐบาลบริหารประเทศ ๒๕ ชุดและเฉลี่ยอายุของรัฐบาล ๕ เดือนถึง ๑ ปี
     ใน ค.ศ. ๑๙๕๘ ฝรั่งเศสต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดจากสงครามแอลจีเรีย (Algerian War) ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๔ การขาดประสิทธิภาพของรัฐบาลในการแก้ปัญหาดังกล่าวทำให้ทั้งฝ่ายทหารที่รบในแอลจีเรียและฝ่ายพลเรือนในฝรั่งเศสเบื่อหน่ายต่อระบบการเมืองที่ฝ่ายรัฐบาลมิได้มีอำนาจบริหารอย่างแท้จริงและไม่มีประสิทธิภาพ ได้มีการเรียกร้องให้เดอ โกลวีรบุรุษสงครามโลกครั้งที่ ๒ และอดีตประธานาธิบดีที่เคยรณรงค์ต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๔ และต้องการให้ประธานาธิบดีมีอำนาจอิสระจากรัฐสภากลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่ง ก่อนเดอ โกลเข้าบริหารประเทศ เขาได้ตั้งเงื่อนไขว่าในการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาตินั้น เขาต้องมีอำนาจเต็มที่ในการบริหารเป็นเวลา๖ เดือน และรัฐบาลมีอำนาจเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ประชาชนลงประชามติโดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน รัฐสภายอมรับเงื่อนไขดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง ๓๒๙ เสียงต่อ ๒๒๔ เสียง
     ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ใช้เวลาดำเนินการ ๔ เดือน ผ่านการลงประชามติและประกาศใช้เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๘ ซึ่งนับเป็นการสิ้นสุดของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๔อย่างเป็นทางการ รัฐธรรมนูญฉบับสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๕ได้จำกัดอำนาจของรัฐสภาและเพิ่มอำนาจและหน้าที่แก่ประธานาธิบดีมากขึ้นประธานาธิบดีมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๗ ปี และมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดยสมาชิกรัฐสภา ผู้แทนจังหวัดต่าง ๆ ผู้แทนอาณานิคมโพ้นทะเล และผู้แทนสภาท้องถิ่นเป็นผู้เลือก ประธานาธิบดีมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีเอง และมีอำนาจในการยุบสภาแห่งชาติทั้งมีอำนาจเด็ดขาดในภาวะฉุกเฉินเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ เดอ โกลได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๕ โดยได้เสียงสนับสนุนถึงร้อยละ ๗๕ ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๖๒ เขาได้เสนให้แก้รัฐธรรมนูญโดยให้ประชาชนเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงแทนการเลือกตั้งทางอ้อมซึ่งชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่ได้ลงประชามติเห็นชอบด้วย
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๙-๑๙๖๙ ที่เดอ โกลดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้นเขาได้ทำให้เสถียรภาพของฝรั่งเศสทั้งภายในและภายนอกประเทศมั่นคงขึ้นฝรั่งเศสได้มอบเอกราชให้แก่แอลจีเรียตามความตกลงเอวียอง (Evian Agreement)ใน ค.ศ. ๑๙๖๒ รวมทั้งปลดปล่อยอาณานิคมโพ้นทะเลอื่น ๆ ที่เหลือให้เป็นอิสระเพื่อป้องกันปัญหาทางการเมืองและสงครามที่อาจจะเกิดขึ้นกับอาณานิคมนั้น ๆขณะเดียวกัน ฝรั่งเศสก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับอาณานิคมเก่าทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม นอกจากนี้ เดอ โกลยังดำเนินนโยบายการต่างประเทศให้ฝรั่งเศสเป็นอิสระจากพันธกิจทางการเมืองระหว่างประเทศและการทหารโดยการถอนกองกำลังฝรั่งเศสออกจากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization - NATO) และส่งเสริมให้ยุโรปรวมตัวกันเพื่อเป็นพลังที่สาม (The Third Force) ในการคานอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตทั้งปรับความสัมพันธ์กับเยอรมนี ให้ดีขึ้นฝรั่งเศสยังมีบทบาทเด่นในประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European EconomicCommunity - EEC) หรือต่อมาคือประชาคมยุโรป [(European Community - EC)และได้พัฒนาเป็นสหภาพยุโรป (European Union EU) ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.๑๙๙๓] และสามารถใช้อำนาจยับยั้งอังกฤษซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งขันทางเศรษฐกิจที่สำคัญในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกอย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการจลาจลประท้วงของนักศึกษาในเหตุการณ์ “ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปารีส”(Paris Spring) กลาง ค.ศ. ๑๙๖๘แม้เดอ โกลจะสามารถแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าวได้ แต่ความนิยมที่มีต่อเขาก็ลดน้อยลง
     ใน ค.ศ. ๑๙๖๙ เดอ โกลได้ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีหลังจากที่ล้มเหลวในการเสนอร่างกฎหมายเพื่อลิดรอนอำนาจวุฒิสภาและการกระจายอำนาจปกครองท้องถิ่นอย่างไรก็ดีทั้งชอร์ช ปงปีดู (Georges Pompidou) และชีสการ์เดสแตง (Giscard d Estaing) ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๙-๑๙๗๔ และ ค.ศ. ๑๙๗๔-๑๙๘๑ ตามลำดับนั้น ต่างยึดนโยบายแนวอนุรักษนิยมและการเสริมสร้างอำนาจของฝรั่งเศสให้เป็นอิสระจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตตามแนวทางที่เดอ โกลวางไว้ ผลงานที่โดดเด่นของปงปีดูคือ การสร้างศูนย์ปงปีดู (Pompidou Centre) ซึ่งเป็นทั้งหอสมุดพิพิธภัณฑ์ และศิลปะร่วมสมัยของยุโรป
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๑-๑๙๙๕ ฟรองซัว โมรีซ-มารีมิตแตร์รอง (FrancoisMaurice-Marie Mitterrand) หัวหน้าพรรคสังคมนิยมได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีติดต่อกัน ๒ สมัยเป็นเวลา ๑๔ ปี เขามีบทบาทสำคัญในการสร้างแนวร่วมระหว่างพรรคสังคมนิยมกับพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส ซึ่งทำให้ฝ่ายสังคมนิยมมีอำนาจในรัฐสภาติดต่อกันหลายปีงานสำคัญของมิตแตร์รองคือการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมตามแนวทางสังคมนิยมและทำให้ฝรั่งเศสมีบทบาทมากขึ้นในยุโรปทั้งผลักดันกระบวนการบูรณาการยุโรปที่จะนำไปสู่การจัดตั้งตลาดเดียวแห่งยุโรป (Single European Market) จนทำให้มีการลงนามในสนธิสัญญามาสตริกต์(Treaty of Maastricht) ในต้น ค.ศ. ๑๙๙๒ นอกจากนี้ มิตแตร์รองยังดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงและฟื้นฟูกรุงปารีสให้สวยงามและทันสมัย รวมทั้งปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre) ที่มีชื่อเสียงด้วย
     ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๕ ชาก ชีรัก (Jacques Chirac)อดีตนายกรัฐมนตรีสังกัดพรรคอนุรักษนิยมระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๓-๑๙๙๕ ในสมัยประธานาธิบดีมิตแตร์รองได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสืบต่อจากมิตแตร์รองซึ่งสังกัดพรรคสังคมนิยม อีก ๓ เดือนต่อมา ประธานาธิบดีชีรักก็ถูกต่อต้านและถูกประณามจากประชาคมโลกเมื่อเขาเห็นชอบกับการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ที่มหาสมุทรแปซิฟิกโดยไม่ยอมฟังคำประท้วงใด ๆ การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสได้สิ้นสุดลงในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๙๖ ต่อมาในเดือนพฤษภาคม หลังจากที่ได้รับแรงกดดันจากนานาประเทศ ชีรักก็ยินยอมยกเลิกนโยบายการเกณฑ์ทหาร(Conscription) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปและขยายกองทัพของฝรั่งเศส
     นอกจากนี้ รัฐบาลของชีรักยังต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและไม่สามารถแก้ภาวะการว่างงานที่ประชาชนร้อยละ ๑๓ ไม่มีงานทำ ทั้งชีรักถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับการทุจริตในการดำเนินงานของรัฐบาล ในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๗ พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายจึงได้ชัยชนะอย่างท่วมท้น ซึ่งมีผลให้เกิดภาวะ “การอยู่ร่วมกัน” (cohabitation) ของพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ต่างกันอีกครั้งระหว่างพรรคอนุรักษนิยมกับพรรคสังคมนิยม โดยในครั้งหลังนี้ประธานาธิบดีชีรักซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมต้องเลือกีลโอแนล โชสแปง (Lionel Jospin) จากพรรคสังคมนิยมเป็นนายกรัฐมนตรีนับเป็นเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับสมัยประธานาธิบดีมิตแตร์รองระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๓-๑๙๙๕ ที่พรรคการเมืองทั้งสองต้องทำงานร่วมกัน เพียงแต่สลับตำแหน่งกันเท่านั้นฝรั่งเศสได้ปรับเปลี่ยนนโยบายจากการโอนกิจการสาธารณะและอุตสาหกรรมสำคัญ ๆให้เป็นของรัฐซึ่งเป็นนโยบายของพรรคสังคมนิยมมาเป็นการขายบริษัทต่าง ๆ ที่รัฐเป็นเจ้าของให้แก่เอกชน นอกจากนี้ ฝรั่งเศสยังดำเนินการทดลองนิวเคลียร์ซึ่งทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
     ต่อมา ในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๙ สมาชิกจำนวน ๑๑ ประเทศจาก๑๕ ประเทศของสหภาพยุโรป ประกอบด้วย เยอรมนี ฝรั่งเศสอิตาลี สเปน เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส ฟินแลนด์ ออสเตรีย และไอซ์แลนด์ ได้เริ่มใช้เงินสกุลยูโร (Euro) ร่วมกัน (อีก ๔ ประเทศที่ยังไม่ใช้เงินสกุลยูโรได้แก่ กรีซ เดนมาร์ก สวีเดน และสหราชอาณาจักร) ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งของการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจและการเงินของสหภาพยุโรป และเป็นการปฏิวัติระบบเงินตราของยุโรปด้วยการประกาศใช้เงินสกุลยูโรเกิดจากการผลักดันของฝรั่งเศสและเยอรมนี ในความพยายามสร้างความแข็งแกร่งให้เงินสกุลยุโรปเพื่อแข่งขันกับเงินสกุลดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกาและเงินสกุลเยนของญี่ปุ่น กริสตียอง นัวเย (Christian Noyer) ชาวฝรั่งเศสได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป [(EuropeanCentral Bank - ECB) ที่เปลี่ยนสถานภาพจากสถาบันการเงินยุโรป (EuropeanMonetary Institute - EMI) และเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๙]นัวเยในฐานะรองผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรปยังเป็น ๑ ใน ๖ ของสมาชิกสภาผู้ว่าการ(Governing Council) ของธนาคารกลางยุโรปที่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการบริหารสูงสุดด้วย มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดและปฏิบัติตามนโยบายการเงินของสหภาพยุโรป ออกธนบัตรเงินยูโรและกำหนดจำนวนเหรียญกษาปณ์ที่ประเทศสมาชิกสามารถผลิตออกมาได้ในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งการควบคุมเสถียรภาพของเงินยูโรที่จะเข้ามาแทนที่เงินสกุลเดิมของประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปในเวลา๓ ปีข้างหน้า การปฏิวัติทางด้านการเงินดังกล่าวนี้คาดกันว่านอกจากจะมีส่วนเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินให้แก่ยุโรปแล้ว ยังจะเพิ่มบทบาทของฝรั่งเศสในเวทีการเมืองระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ ด้วย.
     

ชื่อทางการ
สาธารณรัฐฝรั่งเศส (French Republic)
เมืองหลวง
ปารีส (Paris)
เมืองสำคัญ
มาร์เซย์ (Marseille) ลียง (Lyon) ตูลูส (Toulouse) นีซ (Nice) บอร์โด (Bordeaux) และนองต์ (Nantes)
ระบอบการปกครอง
สาธารณรัฐ
ประมุขของประเทศ
ประธานาธิบดี
เนื้อที่
๕๔๗,๐๓๐ ตารางกิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ : ประเทศลักเซมเบิร์ก และประเทศเบลเยียม ทิศตะวันออก : ประเทศอิตาลีสวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมนีทิศใต้ : ประเทศสเปน และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทิศตะวันตก : มหาสมุทรแอตแลนติก
จำนวนประชากร
๖๐,๘๗๖,๑๓๖ คน (ค.ศ. ๒๐๐๗)
เชื้อชาติของประชากร
ฝรั่งเศส
ภาษา
ฝรั่งเศส
ศาสนา
คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกร้อยละ ๘๘อื่น ๆ ร้อยละ ๘ และไม่นับถือศาสนาร้อยละ ๔
เงินตรา
ยูโร
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
แหล่งอ้างอิง
สารานุกรมทวีปยุโรป